การทับหม้อเกลือ
การทับหม้อเกลือเป็นกรรมวิธีหนึ่งที่ช่วยดูแลมารดาหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งการทับหม้อเกลือจะทำหลังคลอดประมาณ 1-2 สัปดาห์ การทับหม้อเกลือจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว น้ำคาวปลาไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยสลายไขมันบริเวณหน้าท้อง ทำให้หน้าท้องยุบได้อีกด้วย
วัสดุอุปกรณ์ในการทับหม้อเกลือ
-
ผ้าดิบสี่เหลี่ยม ขนาด 50x50 เซนติเมตร 1 ผืน
-
เชือกที่ใช้สำหรับรัดผ้า
-
หม้อทะนนหรือหม้อตาล 2 ใบ(เพื่อใช้สลับกัน)
-
เตาหรือ Hotplate (หากใช้เตาควรมีการเตรียมถ่านให้พร้อม)
สมุนไพรที่ใช้ในการทับหม้อเกลือ
-
เหง้าไพล
-
เหง้าว่านนางคำ
-
ใบพลับพลึง
-
เกลือ
-
การบูร
ขั้นตอนการเตรียม
-
ล้างไพลสด ว่านนางคำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆแล้วนำไปตำพอให้ละเอียด แยกตำที่ละตัว จากนั้นนำตัวยาทั้งสองไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน วางบนผ้า ผสมการบูรลงไป
-
นำใบพลับพลึงกรีดตรงเส้นกลางใบออก เอาด้านหน้าวางบนตัวยา อีก 2 ใบวางทับตั้งฉากกัน
-
นำเกลือใส่หม้อทะนนหรือหม้อตาลตั้งไฟประมาณ 15 นาที ยกหม้อเกลือลง วางทับใบพลับพลึงที่เตรียมไว้ในข้อ 2 ห่อผ้ามัดให้แน่นนำไปทับ
-
ทับหม้อเกลือจนเย็นแล้วค่อยเปลี่ยนหม้อใหม่ แล้วนำหมอที่ใช้แล้วไปตั้งเตาเพื่อให้ร้อนอีกครั้ง
ขั้นตอนการทับหม้อเกลือ
-
โกยท้องจากด้านขวาของมารดาหลังคลอดจากแนวเชิงกราน ด้านข้าง และใต้ชายโครง ด้านซ้ายจากใต้ชายโครง ด้านข้าง และแนวเชิงกราน
-
หลังจากโกยท้องเสร็จใช้มุมหม้อเกลือวางบนหน้าท้อง บริเวณเหนือหัวเหน่าตรงกับมดลูก วนไปครบ 1 รอบ แล้ววางพักหม้อเกลือเหนือหัวเหน่าแล้วหมุนใหม่ทำ 5-6 รอบ(หมุนจากด้านขวาของมารดาหลังคลอดไปตามแนวลำไส้ใหญ่ทางด้านซ้ายแล้ววนรอบ)
-
หลังจากทับบริเวณหน้าท้องแล้วให้นำหม้อเกลือไปทับตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น แขน ขา หลัง เป็นต้น
ข้อควรระวังในการทับหม้อเกลือ
-
ห้ามทำในมารดาหลังคลอดที่มีไข้
-
กรณีรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ไม่ควรทับบริเวณหน้าท้อง ควรทำส่วนอื่นก่อน
-
ห้ามทำในกรณีมดลูกยังลอยตัว มดลูกต้องอยู่ต่ำกว่ากระดูกหัวเหน่า
-
การทับหม้อเกลือไม่ควรใช้ความร้อนที่มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ผิวหนังเกิดการไหม้หรือพุพองได้
-
การทับหม้อเกลือควรระวังบริเวณที่เป็นกระดูกหรือข้อต่อกระดูกตามส่วนต่างๆ
-
การลงน้ำหนักควรลงแต่พอดี โดยเฉพาะบริเวณท้องไม่ควรลงน้ำหนักที่มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้จุกแน่นได้